top of page
mk.jpg

30 พค 64

สาละวิน วิถีคน สายน้ำ อิสรภาพ

โดยสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา​

กลางเดือนมีนาคม ริมฝั่งสาละวินบ้านแม่สามแลบ อากาศร้อนอบอ้าวใบไม้แห้งร่วงหล่นเกลื่อนภูเขาถึงทางเดินเท้า เรือข้ามฟากขนส่งทั้งคนทั้งควายสองฝั่งจอดเรียงรายเกยชายหาด บางลำเร่งเครื่องออกจากท่าพร้อมกับควายเต็มลำ สายน้ำใสยามฤดูแล้งสะท้อนแสงสีฟ้าเข้มยังคงไหลอย่างเยือกเย็น เราอาจพบกับความรู้สึกอึมครึมของผู้คนสองฟากฝั่ง..แววตาทุกคู่ของพวกเขาเมื่อเดินสวนทางดูแข็งกร้าว หรือชวนสงสัยไร้รอยยิ้ม ผิวพรรณกร้านดำเห็นความเพลิดเพลินก็ตอนเคี้ยวหมาก ที่นี่ปะปนไปด้วยชาวโรฮิงญา ทหารพราน พ่อค้าแม่สะเรียง ชาวกระเหรี่ยงหนึ่งในนั้นอาจเป็นทหารกองกำลังชนกลุ่มน้อย

 

การสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดี อายุ 2,000 ปี บริเวณถ้ำผีแมน วัฒนธรรมโลงไม้ในถ้ำเขาหินปูนสูง 700 เมตร กับกระดูกกะโหลกศีรษะมนุษย์ 13,000 ปี บนฝั่งตะวันออกสาละวินในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ่งบอกให้รู้ว่าลุ่มน้ำสาละวินเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์มนุษย์เนิ่นนานเทียบเคียงภูมิภาคดั้งเดิมอื่นๆของโลก ก่อนเป็นสหภาพพม่า-รัฐไทย

 

แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบตนาม “นูเจียง” ในบริเวณใกล้เคียงกันระหว่างแม่น้ำสายสำคัญของโลก 3 สายจากทิศตะวันตกไปตะวันออก แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง แยงซีเกียง มีระยะห่างที่ใกล้ที่สุด 18 กิโลเมตร ความยาว 170 กิโลเมตร ในระหว่างพื้นที่เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต มนฑลเสฉวน มนฑลยูนนาน สาละวินไหลผ่านประเทศจีนตอนใต้เข้าสู่เขตรัฐฉาน รัฐคะยา รัฐกระเหรี่ยง และรัฐมอญในประเทศพม่า ไหลลงอ่าวเมาะตะมะ สู่ทะเลอันดามัน เป็นเส้นเขตแดนไทย-พม่า 118 กิโลเมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร

 

แม่น้ำสายใหญ่หลงเหลือเพียงสายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หรือไม่กี่สายบนโลกยังคงความบริสุทธิ์ แต่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไป หากเกิดโครงการไฟฟ้าจากการสร้างเขื่อนที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน

 

 

 

 

ประวัติศาสตร์โลกกับพัฒนาการความรู้ทางธรณีวิทยา ความอัศจรรย์กับความหลากหลายทางนิเวศวิทยาทั้งพรรณพืช พันธุ์สัตว์จำนวนมากรวมถึงถิ่นอาศัยของหมีแพนด้า อัตลักษณ์พิเศษทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ “พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำสามสายแห่งยูนนาน”

 

ตลอดเส้นทางตามแนวชายแดนในแม่น้ำสาละวิน เรารับรู้จากสายตาว่า แม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนขวางกั้นไหลล่องตามฤดูกาลนั้นยังปรากฏให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ สองฟากฝั่งปกคลุมไปด้วยป่า ปลาที่หาได้มีตั้งแต่เล็กเท่านิ้วมือถึงน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม เรายังเห็นคนหามปลาขึ้นฝั่ง และเมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับผู้คนที่นั่นเพิ่มขึ้นภาพความดุดัน อึมครึมไม่ไว้วางใจก็หล่นหายไป

งานวิจัยไทยบ้าน “วิถีแม่น้ำ วิถีป่า ของปกาเกอญอ” ทำให้เราได้รับรู้รายละเอียดเพิ่มขึ้นว่าในแม่น้ำสาละวินมีระบบนิเวศย่อยอันสลับซับซ้อนจำแนกออกเป็น 18 ระบบ เช่น เก หรือเก้-แก่ง เป็นบริเวณที่มีปลามากที่สุดทุกฤดู ต้องใช้ตะแค้ว-เบ็ด หรือเบอแช-กับดักปลา ผูกดักไว้ตรงแก่งหิน กุย หรือกุ้ย หรือเกว่อ-วังน้ำ บริเวณปากลำน้ำสาขา ทีจอลอ คือน้ำไหลตกลงมาเป็นหยดๆตามผาหิน จะมีสาหร่าย หรือพืชน้ำมาเกาะแทะเล็มในฤดูน้ำหลาก ยามโผลพ้นน้ำก็เป็นแหล่งอาหารของนก ฯลฯ

 

ความหลากหลายทางนิเวศวิทยาทำให้มีปลามากมายหลายสายพันธุ์ นับจากที่จับได้ประจำสำหรับเป็นอาหารและขายพบเจอ 70 ชนิด น้ำหนักมากถึง 100 กิโลกรรม มีให้หาทุกฤดู นอกจากนี้หาดทรายสีขาวที่เราเห็นก็สามารถเพาะปลูกพืชผัก ถั่วชนิดต่างได้เป็นอย่างดีรวมถึงใบยาสูบ

 

ลุ่มน้ำสาละวินชาวกระเหรี่ยงเขาเรียตัวเองว่า “ปกาเกอญอ” วิถีคนกับป่า และสายน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก่อให้เกิดวิถีวัฒนธรรมของคนกับป่า คนปกาเกอญอยังมีความเชื่อในสรรพสิ่งมีผีเป็นเจ้าคุ้มครองการใช้ชีวิตด้วยหลักจารีตโดยไม่มีลายลักษณ์อักษรสืบทอดจากคำพร่ำสอนจากบรรพบุรุษ

 

ป่าขุนน้ำคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบตั้งแต่พืชปกคลุมดิน ลูกไม้เล็กๆจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่อายุเกินร้อยปี ที่ตั้งหมู่บ้านจึงถูกกำหนดให้อยู่ใต้ป่าขุนน้ำในหมู่บ้านต้องเลือกพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ประจำหมู่บ้านเรียกว่า “รุกขจือ” เจ้าแห่งต้นไม้

 

“ตะเดโด๊ะ” คือป่าที่อยู่ในช่องเขาถือเป็นทางเดินของผีจะไม่มีการโค่นถางตัดต้นไม้ทำการเกษตร แต่สามารถเก็บสมุนไพรพืชอาหารได้

 

“เดหมื่อบอ” คือป่าที่ปกคลุมเนินเขามีลักษณะคล้ายหลังเต่ามีลำห้วยไหลอ้อมล้อมรอบ เชื่อว่ามีผีแรงจึงไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

 

“เซมอปู” เป็นป่าน้ำซับมีต้นไม้ใหญ่ และแอ่งน้ำขังตลอดทั้งปีแล้วไหลซึมสู่ลำห้วย เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีน้ำ ผู้คนจะไม่เข้าไปแตะต้องน้ำในแอ่ง และพื้นที่โดยรอบ

 

“ทีนาจวะคี” ป่าขุนห้วยมีผีขุนห้วยดูแลยังคงเป็นป่าที่ไม่มีการตัดฟันหรือใช้ประโยชน์ใดๆ “ทีป่อถ่อ” เป็นป่าที่มีน้ำพุดออกมาจากใต้ดินที่นี่มีผีดุเช่นกัน

 

“เดปอ” เป็นป่าสำหรับต้นไม้ผูกกระบอกใส่สะดือเด็กแรกเกิด ต้นไม้ขวัญเจ้าของสะดือ และป่าสุดท้าย “ตาซาโคว” ป่าช้า ที่ฝังร่างผู้ล่วงลับ

 

พื้นที่ทำกินของพวกเขาคือไร่หมุนเวียนครอบครัวละไม่เกินเจ็ดแปลง ปลูกข้าว และพืชไร่ หลากชนิดเป็นพืชท้องถิ่นสำหรับเป็นอาหารอย่างมั่นคงว่ากันว่าไร่หมุนเวียนคือแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรม เมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง ไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยมีช่วงเวลาของการฟื้นตัวของป่า กับการสะสมความอุดมสมบูรณ์อินทรีย์วัตถุของดิน


สายน้ำนำพาให้ผมได้เรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ตามแนวชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนในเวลาหลายครั้งในรอบสิบปีนับตั้งแต่หมู่บ้านแม่สามแลบ สบเมย ท่าตาฝั่ง ห้วยดึ กระทั่งค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งพม่า กับค่ายทหารคะเรนนี วิถีอันดีงามของพวกเขากำลังถูกแขวนไว้กับโครงการพัฒนาพลังงานโดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน 13 เขื่อน 3 เขื่อนที่อยู่ในเขตชายแดนคือเขื่อนเว่ยจี ดากวิน และฮัตจี เขื่อนกำลังมีแผนก่อสร้างในแม่น้ำที่ยังไหลอย่างอิสระสายใหญ่สุดท้ายในทวีปเอเชีย ยังคงต้องต่อสู้หาข้อยุติ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปราวสิบกว่าปีผมยังคงคงรำลึกถึงคำประกาศเจตนารมณ์ของพวกเขา..กับเหตุการณ์ปัจจุบันอันจะนำไปสู่ความวิบัติจากโครงผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ

11.jpeg

ณ ฝั่งลำน้ำสาละวินพวกเราเดินทางไกลมาจากทั่วสารทิศ ด้วยความมุ่งมั่นใจในการปกป้องสายน้ำให้ไหลล่องไปอย่างอิสระ แม่น้ำสายใหญ่หลงเหลือเพียงสายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่กี่สายบนโลกยังคงความบริสุทธิ์ แต่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปหากเกิดโครงการไฟฟ้าจากการสร้างเขื่อนที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน พวกเรา..ได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน กระทั่งในขณะนี้แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงไป แม่น้ำขึ้น-ลง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติไม่เป็นไปตามฤดูกาล พืชพรรณชายฝั่ง-สาหร่ายในแม่น้ำเติบโตอย่างยากลำบาก ปลาหายไปจากแม่น้ำหลายชนิดปริมาณที่เหลืออยู่ก็น้อยลง ผู้คนสองฝากฝั่งกำลังเดือดร้อน

 

วันนี้..คนจากแม่น้ำโขงจำนวนหนึ่ง ได้มาเห็นกับตาตัวเองว่า สายน้ำทั้ง 2 มีความแตกต่างกันอย่างลิบลับ แม่น้ำสาละวินไม่แห้งแล้ง ยังมีปลาตัวใหญ่ที่เคยพบในแม่น้ำโขง วิถีวัฒนธรรมของคนอันเกิดจากแรงศรัทธาต่อธรรมชาติ สืบทอดมาจากบรรพบุรุษยังฝังลึกในจิตวิญญาณ พวกเราเคารพธรรมชาติเคารพในวิถีของคนที่นอบน้อมต่อธรรมชาติ และกังวลใจที่จะเอ่อถึงแม่น้ำโขงในขณะที่อยู่ในสาละวิน เอ่ยถึงแม่น้ำสาละวินเมื่ออยู่ในแม่น้ำโขงจากตำนานเรื่องราวเล่าขานจากอดีตถึงปัจจุบันว่า แต่เดิม “คง”กับ “ของ” เป็นพี่น้องกันเขาท้าทายแข่งขันการเดินทางสู่ทะเลใครถึงก่อนคือผู้ชนะ “ของ”เดินทางสู่ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ตามข้อตกลง “คง” ใช้เล่ห์เหลี่ยมหาทางลัดเลาะไปตามหุบเขาจึงถึงก่อนในเวลาครึ่งทางของโขง เกิดความขัดแย้งในสัญญาจึงเหินห่างจากความเป็นพี่น้องกัน ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นกล่าวว่าขออย่าได้พบกันอีกเลยตราบชั่วนิรันดร์ การเอ่ยถึงกันอาจนำไปสู่เหตุการณ์ร้าย

 

วันนี้แม่น้ำทั้งสองกำลังถูกคุกคาม เราจึงขอถือโอกาสนี้ได้ให้สายน้ำทั้งสองเข้าใจในเจตนารมณ์ของพวกเราว่า..พวกเรากำลังสร้างความร่วมมือของประชาชนจากแม่น้ำโขง ถึงสาละวิน ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งในการยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ให้ยุติโครงการพัฒนาต่างๆกำลังจะทำลายสายน้ำที่ยังไหลอย่างมีอิสรภาพ เป็นธรรมชาตินาม “สาละวิน” เราตระหนักถึงความเสียหาย กับหายนะที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับแม่น้ำโขง

 

พวกเราหวังว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจากทั้งสองสายน้ำนับตั้งแต่ประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้หันมาสำนึกถึงบุญคุณของธรรมชาติ เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยในลุ่มน้ำโขง-สาละวิน

 

เราหวังว่าประชาชนในลุ่มน้ำทั้งสอง เช่น ชาวทิเบต คะฉิ่น ไต ละว้า กะเหรี่ยงกะหร่าง ลื้อ อาข่า ลีซู ม้ง เย้า โยน ขะแมร์ จาม และอีกหลายกลุ่มที่ยังมิได้เอ่ยถึงจะเกิดการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เหนียวแน่น ยาวนานเพื่อปกป้องสายน้ำสาละวินอันบริสุทธิ์ ดูแลแม่น้ำโขงที่กำลังป่วยไข้ได้ทำหน้าที่ “แม่” สืบต่อไปให้ยาวนานจนกว่าจะดับสูญตามธรรมชาติ

bottom of page