top of page

หนังสือชี้แจงถึงชาวบ้านหลัง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้ มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้านภายหลังจากที่ชาวบ้านมีหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล





สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ มีหนังสือชี้แจงถึงชาวบ้านภายหลังจากที่ชาวบ้านมีหนังสือแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้ครอบคลุมในทุกมิติ และขอเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) โดยหนังสือลงวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ตามหนังสืออ้างถึง ส่งโดยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ที่ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนรายงานอีไอเอ ให้ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องด้วยมีข้อห่วงกังวลเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อส่งน้ำ ทำเขื่อนกั้นแม่น้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้งบประมาณที่อาจไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนรายงานฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติ และขอให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่มพร้อมทั้งนำข้อกังวลหรือข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรงเข้าประกอบการพิจารณารายงานอีไอเอ และประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ


หนังสือระบุว่า สผ. พิจารณาข้อร้องเรียนดังนี้ 1. โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ของกรมชลประทาน จัดทำรายงานโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำอีไอเอ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 4 มกราคม 2562 ซึ่งจะต้องเสนอรายละเอียดโครงการ ฯลฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่าครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ และ คชก. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้พิจารณารายงานดังกล่าวรวม 4 ครั้ง และเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 คชก. มีมติให้นำรายงานอีไอเอ โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนฯ ของกรมชลประทาน ตั้งอยู่ที่ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ต.สบเมย ต.แม่สวด ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ต.นาเกียน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการปรับแก้ไขรายละเอียดข้อมูลตามความเห็นของ คชก. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว สผ. ได้นำประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับโครงการฯ ของท่านเพื่อประกอบการพิจารณาของ คชก. ด้วยแล้ว


หนังสือชี้แจงดังกล่าวระบุว่า 2.ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม กรมชลประทานได้ดำเนินกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 ครอบคลุมในทุกพื้นที่และองค์ประกอบของโครงการทุกแห่ง ได้แก่ พื้นที่หัวงานเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา อุโมงค์ส่งน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์เข้าออก (ADIT) พื้นที่จัดเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ (DA) และถนนเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างโครงการโดยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ไร้สัญชาติ และกลุ่มประชาชนในพื้นที่ และได้รับการพิจารณาจาก คชก.ด้วยแล้ว


“แจ้งประเด็นข้อห่วงกังวลให้กรมชลประทานทราบและประชาสัมพันธุ์สร้างความเข้าใจรายละเอียดโครงการและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนบริเวณพื้นที่โครงการได้รับทราบ”หนังสือระบุ


ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้มีเอกสารแนบเป็นรายงานการประชุม (คชก.) พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ครั้งที่ 19/2564 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยรายงานการประชุมระบุว่า ผู้มาประชุม อาทิ นายสันติ บุญประคับ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายสุรพล ปัตตานี ผู้ทรงคุณวุฒิต้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ นายอภิชาติ เดิมวิชธากร

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง นางประกายรัตน์ สุขุมากชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้มาชี้แจง ได้แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ โดยมีทั้งผู้ที่มาประชุมด้วยตนเองและร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


73 views
bottom of page