top of page

ฟังเสียงจากรัฐฉาน-สาละวิน ก่อนกฟผ.จับมือจีนสร้างเขื่อนเมืองโต๋น


เรื่อง/ภาพ โดยเพียรพร ดีเทศน์




ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในการลงทุนสร้างเขื่อนสาละวินในพม่าที่เงียบไปพักใหญ่ กลับมาขยับเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าไทยเตรียมลงนามเอ็มโอยู ร่วมกับ จีนและพม่าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินตอนบน ในนาม "เขื่อนมายตง" 7,000 เมกะวัตต์ มีแผนส่งไฟฟ้าขายไทยได้ภายในปี 2558 นี้ คาดใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี

หลายปีก่อนหน้านี้ ผู้ที่ติดตามกรณีเขื่อนสาละวิน อาจเคยได้ยินว่ามีโครงการ “เขื่อนท่าซาง” ในรัฐฉาน แต่เวลานี้ทางรัฐบาลพม่ายกเลิกโครงการท่าซาง และผลักดันเขื่อนมายตงมาแทนที่ ซึ่งฝ่ายไทยจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในนาม กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ดำเนินการลงทุน ในขณะที่ฝ่ายจีน คือ บริษัท Three Gorges Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ลงทุน โดยถือหุ้นร่วมกันฝ่ายละ 40% ในขณะที่รัฐ บาลของเมียนมาจะถือหุ้น 20%

มายตง คือชื่อในภาษาพม่าที่เรียก “เมืองโต๋น” ในรัฐฉาน ซึ่งจะเป็นหัวงานอภิมหาเขื่อนที่จะมีความสูงถึง 241 เมตร มูลค่าก่อสร้างกว่า 4 แสนล้านบาท แต่พื้นที่นี้จริงๆ แล้วมีสภาพเป็นเช่นไร คนนอกแทบไม่เคยรับรู้


โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและชาติพันธุ์มาเป็นระยะๆ เพราะผลกระทบด้านสิทธิมุษยชนอันเกิดจากการสู้รบ


นายจายเคอแสง ผู้ประสานงานองค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่จากรัฐฉาน (Shan Sapawa) มองว่าความไม่สงบและการสู้รบ คือสิ่งที่ประชาชนในรัฐฉานกังวลมากที่สุด “สงครามความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นในรัฐฉาน โดยเฉพาะในภาคเหนือติดชายแดนจีน ซึ่งมีการสู้รบอย่างดุเดือดเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกลุ่มโกกั้ง การสู้รบเหล่านี้เป็นเหตุให้การก่อสร้างโครงการเขื่อนกุนโหลง ซึ่งอยู่บนแม่น้ำสาละวินติดชายแดนจีนต้องยุติไปแล้ว


“ที่ตั้งเขื่อนเมืองโต๋นอยู่บริเวณพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธ ชาติพันธุ์ขนาดใหญ่หลายกลุ่มในรัฐฉาน พื้นที่รอบเขื่อนและบริเวณอ่างเก็บน้ำเต็มไปด้วยกำลังทหารทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์ มีการเพิ่มจำนวนกองพันทหารพม่ารอบเขื่อนถึงสี่เท่า มีจำนวนถึง 39 กองพันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้มีการลงนามหยุดยิง แต่การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กองทัพว้าปะทะกับทหารพม่าที่เมืองโต๋น ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากได้อพยพออกไปจากพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะถูกน้ำท่วม เป็นผลมาจากการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2539-2541 ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 300,000 คนต้องอพยพหลบหนีจากลุ่มน้ำสาละวินในภาคกลางของรัฐฉาน” นายจายเคอแสงกล่าว

จากการลงพื้นที่สำรวจของกลุ่มสิทธิมนุษยนชนไทยใหญ่และชาวไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน มีข้อมูลเปิดเผยว่าประชาชนถูกแยกออกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มที่หนีภัยความตายไปยังชายแดนไทย โดยเฉพาะฝั่งอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กลุ่มที่สองถูกบังคับอพยพเข้าไปอยู่ตามแปลงอพยพในเมืองต่างๆ ที่ทหารพม่ากำหนดไว้ และกลุ่มสุดท้ายหนีและหลบซ่อนอยู่ในป่า เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ หรือ Internally Displaced Persons ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการเปิดเผยรายงานตัวเลขจำนวนประชาชนและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ


ข้อมูลยังระบุว่าชุมชนที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต้องยอมทนกับการปฏิบัติมิชอบของทหารพม่า ที่มีทั้งการบังคับอพยพ ทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สิน รวมทั้งการทำร้าย สังหาร และข่มขืน สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่าหากรัฐบาลพม่าเดินหน้าสร้างเขื่อนเมืองโต๋นต่อไปในสภาพที่เป็นอยู่ ย่อมส่งผลให้มีการเพิ่มกำลังทหารและการสร้างค่ายทหารมากขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองพื้นที่ และย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น


เจ้าหน้าที่ทหารไทใหญ่รายหนึ่งให้ข้อมูลว่าพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินและน้ำป๋าง ลำน้ำสาขาทางฝั่งตะวันตก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนเมืองโต๋น ได้รับความเสียหายจากการกวาดล้างของทหารพม่าเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ที่ต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ทยอยกลับมาฟื้นฟูหมู่บ้านยังไม่ถึงครึ่ง “หากรัฐบาลพม่าอธิบายกับนานาชาติว่าประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และกำลังสร้างสันติภาพ แต่อีกทางหนึ่งกลับลงนามสร้างเขื่อน อ้างว่าให้ประเทศเพื่อนบ้านมาลงทุน ผมบอกเลยว่าทำแบบนี้ประชาชนในพื้นที่มีแต่ลำบาก ความเสียหายในภาคกลางของรัฐฉาน 20 ปีที่ผ่านมาทหารพม่าไม่เคยยอมรับหรือเยียวยา แต่กลับจะสร้างเขื่อน เอาน้ำมาท่วม ไม่มีใครยอมรับแน่นอน”


แม่น้ำสาละวินได้ชื่อว่าเป็น “แม่”ของกลุ่มชาติพันธุ์เพราะไหลผ่านพื้นที่ของชุมชนหลากหลาย ตั้งแต่ต้นนำที่เชิงเขาหิมาลัยในจีน ผ่านพม่าและพรมแดนไทย สาละวินสั่งสมเป็นอารยะธรรมเก่าแก่และชวนค้นหา ขณะเดียวกันความบริสุทธิ์ของเธอ ทำให้กลายเป็นที่หมายปองของนักฉกฉวยผลประโยชน์มากมาย นอกจากประเด็นการสร้างเขื่อนแล้ว ล่าสุดทางการไทยยังมีแผนผันน้ำสาละวินเข้าสู่เขื่อนภูมิพลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังกระหน่ำประเทศไทย


การคิดและดำเนินการใดๆ นอกจากคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวแล้ว ควรเคารพธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ย่านนี้ยังเป็นสนามความขัดแย้งที่สู้รบกันอยู่ตลอดเวลา

----------------






bottom of page